"ชีวิตมนุษย์ต้องมีเงินออม และต้องนำเงินออมไปลงทุนให้เงินเพิ่มพูน"
ผมถูกแม่สอนมาตลอดชีวิตผมตั้งแต่ผมเริ่มจำความได้ ด้วยการพูดธรรมดาๆ ว่า "ลูกต้องรู้จักเก็บเงินนะลูก" แต่มันไม่เคยได้นำมาปฏิบัติเลย อันที่จริงจิตใจคนเรามันก็เหมือนฟองน้ำ ไม่ว่าจะน้ำสีไหนหยดลงๆ เป็นประจำอยู่ตลอด ฟองน้ำก็จะเปลี่ยนเป็นสีนั้น เหมือนกับจิตใต้สำนึกของคนเราที่แม้ว่าขณะนี้เราจะไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เราถูกสอนมาอย่างต่อเนื่อง แต่วันนึงสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเรานั้นจะส่งผลออกมาโดยที่เริ่มแรกเราอาจจะยังไม่รู้ตัว จนกระทั่งได้มีโอกาสเริ่มสังเกตุตัวเองและมองเห็น
ครั้นผมอายุย่างเข้า 19 (พ.ศ.2548) ออกจากชีวิตการเป็นนักเรียนไปเป็นนักศึกษา ตอนเรียนผมก็ไม่ได้ดีหรือแย่อะไร เรียกว่าตามมีตามเกิดน่าจะเหมาะกว่า เมื่อเข้ารั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ผมเริ่มคิดถึงอนาคตตัวเองอย่างจริงจังขึ้นมากกว่าสมัยยังเรียนมัธยมหรือประถม (หรืออนุบาล) ผมคิดได้ว่าตัวเองควรมีเงินออมหรือเงินเก็บบ้าง อย่างน้อยๆ ก็มีไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เผื่อไว้หากเราไม่ได้มีพ่อแม่อยู่กับเราแล้ว ผมคิดไม่ออกจริงๆ ว่า ใครจะยื่นมือเข้ามาช่วย ญาติสนิทตัวผมเองแทบจะไม่รู้จัก ครอบครัวสมัยใหม่ก็อย่างนี้และนะ อาศัยกันเล็กๆ พ่อแม่ลูก(และลูกอีกคน) ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มตั้งใจเก็บเงิน
ช่วงแรกของการเก็บเงินนั้นช่างยากเย็นแสนลำบาก เพราะที่ผ่านๆ มาผมตามใจตัวเองตลอด หรือผมกำลังเข้าทางที่ว่า ทำไมคนเราถึงใช้เงินได้ง่ายกว่าหาเงิน ก็เพราะว่าคนเราชอบที่จะยอมรับ มากกว่าปฏิเสธใจตัวเอง หรือจะให้พูดอีกก็ได้ว่า เงินนั้นหายาก ที่มันยากก็เพราะอย่างที่ผมบอกนั่นแหละ ให้คุณได้ลองเปรียบเทียบดูว่า เวลาคุณจ่ายเงินไม่ว่าด้วยจุดประสงค์ใด คุณจะยอมเลือกจ่ายให้คนอื่น หรือจ่ายให้ตัวเองก่อน และในอัตราส่วนเงินจำนวนหนึ่งหากคุณจะต้องแบ่งให้อีกคน จิตใต้สำนึกคุณมันจะบอกว่าต้องอยากแบ่งให้ตัวเองเยอะกว่าอยู่แล้ว ไม่ต่างกับที่ทำงาน หากคุณเป็นลูกจ้าง นายจ้างก็ต้องพยายามกดค่าแรง ค่าจ้าง เงินเดือนให้น้อยที่สุด เพื่อลดต้นทุนหรือด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม แต่เมื่อคุณได้เงินมาและรู้ว่ามันไม่ได้กันมาง่ายๆ คุณก็ควรใช้มันอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด (แม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้ตามนั้น แต่ก็ต้องพยายามกันล่ะครับ)
กลับมาที่ตัวผม ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ผมมีเท่าไหร่มันไม่เคยเหลือเลย ถึงมีเงินเก็บแต่มันก็ไม่เคยอยู่ได้เกิน 3 เดือน จนกระทั่งจิตใจผมเริ่มเคยชินกับการเก็บ ทีนี้จะเก็บให้มันมากกขึ้นก็คงไม่ยาก (อันที่จริง ที่ผมทำมาแล้ว การเก็บออมเพิ่มขึ้นอีกทีละนิดๆ มันก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย)
เมื่อผมขึ้นปี 2 (พ.ศ.2550) พร้อมๆ กันกับการมีแฟนเป็นตัวเป็นตน (ขณะเขียนก็ยังเป็นคนเดิม หลังจากนี้ไม่รู้ต้องคอยติดตามต่อไป เหะๆ) ผมเริ่มชวนแฟนมาเก็บเงินอีกแรง โดยมีความคิดที่ว่าสองหัวอีกว่าหัวเดียว เงินออมเพิ่มขึ้นทวีคูณ เพราะเก็บออมเงินจำนวนเท่ากันทั้งสองคนทุกเดือน ระหว่างนั้นผมรู้แค่ว่าออมเงิน ออมเงิน และออมเงิน แต่ผมไม่ได้รู้เลยว่า ออมเงินในธนาคารอย่างเดียวนั้นมันไม่ได้ช่วยให้ผมมั่งคั่ง หรือมั่นคงอะไร ประกอบกับพอมาถึงปลายๆ ปี 2 ซึ่งนักศึกษาในคณะบริหารธุรกิจ ต้องเลือก major ที่ตัวเองสนใจ ช่วงนั้นยังผมไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี เลยคิดว่าอยากรู้เรื่องธนาคาร เรื่องการเงิน จนตัดสินใจเลือกเรียน major ของ Finance and Banking ซึ่งบอกได้เลยว่า ชีวิตปี 3 และ ปี 4 ของผม มันกลายเป็นความทุกข์ในการเรียนอย่างสาหัส เพราะเรียนไปก็ไม่รู้เรื่อง แต่อย่างน้อยผมพยายามที่ที่จะเรียนให้มันผ่านไปให้ได้ มันก็เลยมี (เศษๆ ความรู้) อะไรติดไม้ติดมือมาบ้าง
ในปลายๆ ปี 2 นั้น อีกทางหนึ่ง ผมก็เริ่มหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง ผมไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่สถานการณ์มันพาไป น่าเสียดายที่ผมมาเริ่มอ่านจริงจังหลังจากจบมหาวิทยาลัย ไม่อย่างนั้นผมคงได้เกรดดีกว่านี้ ผมเริ่มมองหาหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการเงินการลงทุน หรือการเงินส่วนบุคคล ซึ่งช่วงเวลานั้น มันมีหนังสือที่พอจะให้คนทั่วไปอ่านง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ น้อยอยู่ (ไม่เหมือน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีออกมาเยอะมาก เป็นกระแสกเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะ stock2morrow) ขณะนั้น หนังสือส่วนใหญ่จะเขียนอยู่ในแนวกรอบกว้างๆ ว่าในตลาดเงิน ตลาดทุน มีสินค้าอะไรที่คุณสามารถนำเงินไปวางไว้ได้บ้าง ตั้งแต่ฝากเงินธนาคาร จนไปถึงหุ้น แต่ไม่มีเล่มไหนที่บอกว่าวิธีการซื้อขายมันต้องเริ่มเข้าไปยังไง เช่น อยากซื้อหุ้น ต้องมีบัญชีซื้อขายนะ ไปเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์นะ บริษัทหลักทรัพย์มีใครบ้าง ก็ไปดูจากในเว็บ www.set.or.th อะไรประมาณนี้ อันที่จริงก็เป็นข้อมูลง่ายๆ ที่มองดูแล้วมันน่าจะเป็น common sense แต่ให้เปิดใจหน่อย คือ คนที่ไม่รู้ ไม่บอกเค้า เค้าก็ยังไม่รู้ บางทีบางคนแค่แนะนำนิดหน่อย เค้าก็สามารถไปต่อยอดเองได้แล้ว
ถึงแม้หนังสือส่วนใหญ่จะไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรมากมายก็ตาม แต่ทุกเล่มที่ผมอ่าน ล้วนเริ่มด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ เริ่มบทแรกๆ ด้วยการกระตุ้น โน้มน้าวจิตใจคนอ่านทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ที่ผมมองว่าเหมาะสำหรับคนที่ไม่เคยเห็นโอกาส หรือเป็นแรงหนุนอย่างดีสำหรับคนที่สนใจอยู่แล้ว จนกระทั่งผมไปเจอหนังสือของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผมจำไม่ได้ว่าหนังสือชื่ออะไร (ข้อเสียของผม ความจำไม่ค่อยดี หลงลืมง่าย) มีหลายเล่มอยู่ ผมได้เริ่มอ่านเล่มหนึ่ง อ่านจบผมก็ไปเหมาหนังสือทุกเล่มที่เขียนโดย ดร.นิเวศน์ (ด้วยการทยอยซื้อ ทีละเล่มสองเล่ม อ่านจบแล้วค่อยไปซื้อเพิ่ม ขืนซื้อทีเดียวครบ ผมคงไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ประทังชีวิตแน่ๆ) ถือเป็นการเริ่มต้นเก็บเกี่ยวความรู้เรื่องหุ้นจากพื้นฐานกิจการ
อ่านไปเรื่อยๆ จนมาเจอหนังสือของสำนักพิมพ์ stock2morrow ซึ่งได้นำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของทั้งสองขั้ว คือทางด้านพื้นฐาน และเทคนิค และช่วงนั้นยังมีรายการทีวี Money Channel ที่ผมดูแรกๆ ยังไม่ค่อยมีรายการน่าสนใจนัก เพราะพูดถึงสิ่งที่คนที่ใหม่กับการลงทุนไม่เข้าใจ ต่างกับปัจจุบันอย่างมาก ด้วยวิธีการนำเสนอแล้ว ผมว่าเด็กวัยรุ่นมัธยมต้น มัธยมปลายมาดูแล้วก็คงทำให้พวกเค้าเหล่านั้นสนใจได้เช่นกัน
ผมเริ่มทำงานก่อนที่จะได้อ่านหนังสือของ stock2morrow ซึ่งหนังสือที่ผมอ่านก็เป็นของคุณ ภาววิทย์ กลิ่นประทุม คงไม่ขอพูดถึงว่าเล่มไหน เพราะอ่านหมดทุกเล่ม รวมทั้งทุกเล่มของสำนักพิมพ์นี้ด้วย ซึ่งหนังสือเหล่านั้นเรียกได้ว่าล้างสมอง หรือจะพูดให้มันดูน่าฟังกว่านี้คือ ได้จุดประกาย จุดไฟแสงสว่างส่องทางให้ผมได้เห็นโอกาสอีกแง่มุมหนึ่งการผสมผสานของการดูเทคนิคประกอบกับพื้นฐาน หรือจะพูดสลับกันก็ได้ (พื้นฐานประกอบกับเทคนิค) และผมก็ค่อยๆ เริ่มสนใจการลงทุนโดยวิเคราะห์จากข้อมูลทางเทคนิค ความรู้ทุกอย่างที่ผมได้จากการอ่าน มันคือสิ่งที่ผมเรียนในมหาวิทยลัยทั้งหมด อันที่จริงแล้วจะว่าไป ผมมาคิดดูเล่นๆ ว่า หาความรู้จากนอกห้องเรียนก็ได้นี่นะ ไม่เห็นต้องเสียเงินเสียทองไปเรียนเลย มันเหมือนกันเป๊ะเลย แต่ก็อย่างว่าล่ะครับ วุฒิการศึกษามันคือใบเบิกทางสู่อาชีพ (สู่ลูกจ้าง และสู่กงล้อหนู) ผมไม่ได้บอกว่าไม่ดี ในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะระดับปริญญาตรี โท หรือเอก หรือสถานศึกษาอื่นๆ ล้วนแต่ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อเราทั้งสิ้น (แค่เค้าไม่ได้สอนว่า จะเอาไปใช้ในชิวิตจริงอย่างไรแค่นั้นเอง เต็มที่ก็แค่ case study) รวมทั้งยังเป็นการฝึกฝนตัวเองให้อดทนต่ออุปสรรค์ต่างๆ ที่จะต้องผ่านไปให้ได้เพื่อนเป้าหมายคือการสำเร็จการศึกษานั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น